Language : English
วัสดุก่อสร้างบางชนิดอาจเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืน ด้วยคำจำกัดความหรือเงื่อนไขบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ไม้อาจถือเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืนถ้าปลูกขึ้นด้วยการจัดการป่าแบบยั่งยืน และแปรรูปด้วยพลังงานยั่งยืนและจัดส่งด้วยการขนส่งที่ยั่งยืน แต่อาจไม่ถือเป็นวัสดุที่ความยั่งยืนภายใต้เงื่อนไขที่ต่างออกไป ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนจากสหรัฐอเมริกาได้ทำการแจกแจงลักษณะของวัสดุก่อสร้างที่มีความยั่งยืนโดยพิจารณาตามแนวคิดการประเมินวัฎจักรชีวิตไว้ดังนี้
- มีการควบคุมและป้องกันการเกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิตของวัสดุ
- มีการลดปริมาณการเกิดของเสียตลอดกระบวนการผลิตของวัสดุ
- ใช้วัตถุดิบจากการรีไซเคิลในการผลิตวัสดุ
- มีการลดการใช้พลังงานตลอดกระบวนการผลิตวัสดุ
- เป็นวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ ดิน เป็นต้น
- วัสดุที่มีการออกแบบมาให้ลดการเกิดของเสียในระหว่างการก่อสร้างหรือการติดตั้ง
- วัสดุที่ผลิตในท้องถิ่น
- วัสดุที่มีการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคาร
- วัสดุที่ช่วยประหยัดน้ำหรือลดการใช้น้ำ
- วัสดุที่ไม่มีหรือมีสารพิษเป็นส่วนประกอบน้อย
- วัสดุหรืออุปกรณ์สำหรับผลิตพลังงานหมุนเวียน
- วัสดุที่มีอายุการใช้งานยาวนาน
- ความสามารถในการนำกลับมาใช้ซ้ำของวัสดุ
- ความสามารถในการนำกลับมารีไซเคิลของวัสดุ
- ความสามารถในการย่อยสลายตามธรรมชาติของวัสดุ
ลักษณะเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์การเลือกวัสดุที่มีความยั่งยืนได้ดังที่สรุปไว้ใน ตารางที่ 1
ตารางที่ 1 หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกวัสดุที่มีความยั่งยืน (Jong-Jin และคณะ, 1998)
หลักเกณฑ์ความยั่งยืน | ||
ระหว่างกระบวนการผลิตวัสดุ | ระหว่างการก่อสร้างและติดตั้ง | หลังหมดอายุอายุการใช้งาน |
– การลดการเกิดของเสีย
– การป้องกันการเกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม – การใช้วัสดุรีไซเคิล – ลดการใช้พลังงาน – ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ |
– ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
– ประสิทธิภาพในการใช้น้ำและลดการใช้น้ำ – ความไม่เป็นพิษ – ผลิตพลังงานทดแทน – อายุการใช้งานยาวนาน |
– ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
– รีไซเคิลได้ – นำมาใช้ซ้ำได้ – อื่นๆ |
วัสดุยั่งยืนที่นำมาใช้สำหรับที่อยู่อาศัยสามารถเป็นได้ทั้ง วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์และของใช้ต่างๆภายในบ้าน ตัวอย่างของวัสดุที่มีความยั่งยืนมีดังนี้
คอนกรีต
คอนกรีตถือว่าเป็นวัสดุก่อสร้างบ้านที่ดีเยี่ยมชนิดหนึ่งสำหรับการสร้างสิ่งก่อสร้างที่ต้องการความร้อนจากแสงอาทิตย์ โดยสิ่งก่อสร้างคอนกรีตจะสามารถเก็บรักษาความอบอุ่นไว้ในช่วงฤดูหนาวในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้บ้านเย็นลงได้ในฤดูร้อนด้วยคุณสมบัติการดูดกลืนและสะท้อนรังสีความร้อน นอกจากนี้คอนกรีตยังมีอายุการใช้งานยาวนานและนำมาในการก่อสร้างอาคารรูปแบบต่างๆได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถนำมารีไซเคิลได้และมีความทนทานต่อการติดไฟ (Green Cross Australia, 2010) ถึงแม้ว่าในกระบวนการผลิตคอนกรีตสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันได้มีการนำเทคนิคการผลิตใหม่ๆมาใช้ เช่น การใช้ปริมาณซีเมนต์ประสิทธิภาพสูงในการผลิตคอนกรีต การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งท้องถิ่น การแก้ไขส่วนผสมของคอนกรีต หรือการผลิตคอนกรีตประสิทธิภาพสูงซึ่งเป็นการช่วยลดปริมาณคอนกรีตที่ใช้สำหรับสิ่งก่อสร้าง (CEMBUREAU, 2013) รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างบริษัทที่มีการผลิตคอนกรีต/ซีเมนต์คาร์บอนต่ำ
รูปที่ 1 ตัวอย่างบริษัทที่มีการผลิตคอนกรีต/ซีเมนต์คาร์บอนต่ำ
ที่มา: Lafarge; Kildeaconcrete; Boral; Centralconcrete
ไม้
ไม้ถือว่าเป็นวัสดุยอดนิยมสำหรับการผลิตเครื่องใช้ในบ้านหรือแม้แต่การสร้างบ้าน เนื่องจากมีความแข็งแรง ยืดหยุ่น สามารถรับน้ำหนักได้มาก และเป็นวัสดุหมุนเวียนเมื่อนำมาจากถูกแหล่ง ไม้เป็นวัสดุที่มีการสะท้อนหรือดูดกลืนความร้อนได้น้อย หากเป็นไม้ที่มีความหนาแน่นปานกลางสามารถเก็บความร้อนได้ระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน ดังนั้นในการสร้างบ้านไม้จำเป็นต้องใช้ฉนวนกันความร้อนที่ดีหรือสามารถใช้คอนกรีตเป็นตัวเสริมในบางส่วนเพื่อช่วยในเรื่องการเก็บความร้อน
ในการเลือกใช้ไม้สำหรับการก่อสร้างจำเป็นต้องคำนึงถึงแหล่งที่มา หากไม้นั้นได้มาจากป่าธรรมชาติจะไม่ถือว่าเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืน ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ไม้ที่นำมาจากการรีไซเคิลจากการรื้อถอนอาคารไม้ โดยที่ไม้นั้นจะต้องอยู่ในสภาพดี แต่ถ้าหากจำเป็นต้องซื้อไม้ใหม่ ควรมองหาไม้ที่ได้มาจากป่าปลูก (Green Cross Australia, 2010) เช่น ในประเทศไทยได้มีการนำไม้ยางพาราจากต้นยางพาราที่ไม่สามารถผลิตน้ำยางได้แล้วมาผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนและส่งจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างเครื่องเรือนจากไม้รีไซเคิล

รูปที่ 2 ตัวอย่างเครื่องเรือนจากไม้รีไซเคิล
ที่มา: http://www.thewoodenduck.com [1], [2], [3]
เครื่องใช้ไฟฟ้าติดฉลากเบอร์ 5
ประเทศไทยมีการรณรงค์ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากเบอร์ 5 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 เพื่อส่งเสริมการจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาสมเหตุสมผลและส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยในการประหยัดไฟฟ้า ฉลากเบอร์ 5 จะแสดงระดับความประหยัดไฟออกเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่เบอร์ 1 ถึง เบอร์ 5 ฉลากนี้จะแสดงระดับการใช้ไฟฟ้าและข้อมูลเบื้องต้นของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายต่อปี เพื่อเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับในประเทศอื่นๆก็ได้มีการออกฉลากประหยัดไฟฟ้าและพลังงานสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นกัน ดังที่แสดงใน ตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ฉลากประหยัดไฟฟ้าและพลังงานในประเทศไทยและต่างประเทศ
ฉลาก |
ประเทศ | ฉลาก | ประเทศ |
![]() |
![]() |
||
![]() |
![]() |
||
![]() |
![]() |
||
![]() |
|
![]() |
|
![]() |
![]() |
แหล่งข้อมูล:
- CEMBUREAU (2013) Low Carbon Concrete. http://lowcarboneconomy.cembureau.eu/index.php?page=low-carbon-concrete
- Green Cross Australia (2010) Green Building Guide: Building Materials. http://www.builditbackgreen.org/bushfires/interactive-green-building-guide/building-materials.aspx
- Jong-Jin, K., & Rigdon, B. (1998). Qualities, Use, and Examples of Sustainable Building Materials. National Pollution Prevention Centre for Higher Education. Retrieved from http://www.umich.edu/~nppcpub/resources/compendia/ARCHpdfs/ARCHsbmIntro.pdf
- EGAT (2012) Appliance Efficiency Improvement Project. http://labelno5.egat.co.th/index.php?lang=en#
- http://www.onep.go.th/library/index.php?option=com_content&view=article&id=28:2012-03-12-03-05-52&catid=22:2012-03-12-02-54-55&Itemid=31
- http://www.nrcan.gc.ca/energy/products/for-participants/13068
- http://eur-lex.europa.eu/legal-content/en/ALL/?uri=CELEX%3A52015SC0143
- http://www.quacert.gov.vn/en/iso-50001-and-energy-saving.nd182/vietnam-energy-labeling-is-compulsory.i112.html
- http://www.straitstimes.com/singapore/singapore-budget-2014-revised-energy-labelling-scheme-for-home-appliances