Language : English

พลังงานทดแทน
พลังงานทดแทน คือ พลังงานที่ได้มาจากกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพ พลังงานน้ำ พลังงานชีวภาพ และพลังงานจากมหาสมุทร บทบาทของพลังงานหมุนเวียนยังคงเพิ่มขึ้นในภาคการผลิตไฟฟ้า พลังงานความร้อนและความเย็น และภาคการขนส่ง
พลังงานชีวมวล
พลังงานชีวมวล คือ พลังงานที่ได้มาจากการนำชีวมวลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรง หรือผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นของเหลวและก๊าซ
พลังงานชีวมวล คิดเป็นร้อยละ10 ของ การจัดหาพลังงานปฐมภูมิของโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ในการสนับสนุนพลังงานพื้นฐานสำหรับการปรุงอาหารและการทำความร้อน แต่บ่อยครั้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาของเตาปรุงอาหารที่ใช้ชีวมวล เชื้อเพลิงสะอาด และการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าของประเทศกำลังพัฒนา เป็นมาตรการสำคัญในการปรับปรุงสถานการณ์ปัจจุบันและการเข้าถึงพลังงานสะอาด ในปี 2573
พลังงานความร้อนใต้พิภพ
พลังงานความร้อนใต้พิภพ คือ พลังงานที่สามารถนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน (และความเย็น) ที่มีคาร์บอนต่ำ โดยเป็นการผลิตพลังงานที่ได้มาจากน้ำที่มีอุณหภูมิสูง หรือน้ำแข็งที่อยู่ในระดับลึกที่มีอุณหภูมิต่ำและปานกลาง รวมถึงทรัพยากรหินร้อน
พลังงานความร้อนใต้พิภพ สามารถผลิตได้จากหลายหลายเทคโนโลยีทดแทน โดยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่อยู่ในรูปไอระเหยและของเหลว เทคโนโลยีความร้อนใต้พิภพอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อขยายการใช้เทคโนโลยีนี้ในประเทศที่มีทรัพยากรที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพ
พลังงานน้ำ
พลังงานน้ำ คือ พลังงานที่ได้มาจากการปั่นกังหันน้ำโดยใช้การไหลของน้ำ ซึ่งอาจเป็นน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำ โดยน้ำจากอ่างเก็บน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเพื่อปั่นกังหันน้ำให้เกิดพลังงาน
พลังงานน้ำ เป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 16 ของการขายไฟฟ้าทั่วโลก และเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศเกิดใหม่ หรือประเทศกำลังพัฒนา
พลังงานมหาสมุทร
พลังงานมหาสมุทร แบ่งเป็น 5 ประเภท ตามลักษณะเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ได้แก่
- พลังงานน้ำขึ้น-น้ำลง คือ พลังงานที่ได้จากการใช้ประโยชน์จากการขึ้น-ลงของน้ำ ซึ่งสามารถควบคุมการผลิตพลังงานจากการสร้างเขื่อนบริเวณปากแม่น้ำ
- พลังงานจากกระแสน้ำขึ้น-น้ำลงในมหาสมุทร คือ พลังงานที่ได้จากการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำทะเล โดยใช้เทคโนโลยีระบบ โมดูลาร์ (modular systems) ในการผลิตพลังงาน
- พลังงานคลื่น คือ พลังงานที่ได้จากคลื่นของมหาสมุทร ปริมาณพลังงานคลื่นที่มากน้อยขึ้นอยู่กับ ความเร็วคลื่น ความสูงของคลื่น ความยาวคลื่น และความหนาแน่นของน้ำ พลังงานคลื่นสามารถนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้า หรือใช้สำหรับสูบน้ำ
- พลังงานจากความแตกต่างของอุณหภูมิ คือ พลังงานที่ได้มาจากความแตกต่างของอุณหภูมิของน้ำบริเวณผิวน้ำและอุณหภูมิของน้ำบริเวณน้ำลึก ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีความแตกต่างของกระบวนการเปลี่ยนพลังงานความร้อนของมหาสมุทร (Ocean thermal energy conversion : OTEC) ในการผลิตพลังงานประเภทนี้
- พลังงานจากความแตกต่างของความเค็ม คือ พลังงานที่ได้มาจากความเค็มที่แตกต่างกันบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำจืดผสมกับน้ำทะเค็ม โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการออสโมซิสผันกลับและเปลี่ยนเป็นพลังงาน
พลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานแสงอาทิตย์ คือ พลังงานที่ได้มาจากการแปลงแสงแดดให้อยู่ในรูปพลังงานที่สามารถใช้งานได้ เช่น นำไปผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถจำแนกเป็น 2 แบบ คือ
- เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar photovoltaic: PV) เป็นระบบการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ได้แก่ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ซิลิคอน (Crystalline silicon-based systems) เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มีข้อดี 2 ประการ คือ 1) การผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์สามารถผลิตได้ในโรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสูง และ 2) เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เป็นเทคโนโลยีที่สามารถประกอบได้ตามขนาดที่ต้องการ
- เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยระบบรวมแสงอาทิตย์ (Concentrating solar power: CSP) เป็นเทคโนโลยีในการรวมแสงไว้ที่วัตถุรับแสงโดยใช้กระจกหรือวัสดุสะท้อนแสงและหมุนตามดวงอาทิตย์เพื่อสะท้อนแสงและส่งไปยังตัวรับแสงซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานที่มีอุณหภูมิสูง
พลังงานลม
พลังงานลม คือ พลังงานที่ได้มาจากการเคลื่อนไหวของลมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม
พลังงานลมกำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ปัจจุบันทั่วโลกมีการเพิ่มกำลังการผลิตและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง การปรับปรุงเทคโนโลยีส่งผลต่อการลดลงของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ในภาคอุตสาหกรรมสามารถแก้ปัญหาการจำกัดทรัพยากรและการขยายห่วงโซ่อุปทาน
แหล่งข้อมูล:
- https://www.iea.org/topics/renewables/
- http://www.conserve-energy-future.com/WaveEnergy.php
- http://www.dede.go.th/ewt_dl_link.php?nid=630
- กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. (2557). พลังงานมหาสมุทร. In กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, สารานุกรมพลังงานทดแทน (pp. 271, 274-278). กรุงเทพมหานคร,ประเทศไทย.