Language : English

ภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม มีความอ่อนไหวต่อสภาพ ดิน ฟ้า อากาศ และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีน้ำเป็นปัจจัยหลักในการผลิต เมื่อปริมาณน้ำไม่สมดุลกับความต้องการจึงส่งผลกระทบต่าง ๆ มากมาย เช่น ภัยแล้ง ทำให้พืชขาดน้ำ แห้งตาย ปศุสัตว์ขาดน้ำและอาหาร เช่นเดียวกับอุทกภัยซึ่งส่งผลทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ปศุสัตว์ล้มตาย และอาจเกิดโรคระบาดเช่นกัน ผลของภัยพิบัติทำให้เกษตรกรขาดรายได้และมีหนี้สิน นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อเนื่องทำให้สินค้าทางการเกษตรขาดแคลน มีราคาแพง
นอกจากภัยพิบัติจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมแล้ว การทำการเกษตรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายสมดุลของระบบนิเวศ ก็เป็นสาเหตุทำให้ความเสี่ยงจากภัยพิบัติมีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในกรณีของภัยน้ำท่วม อาจมีผลกระทบด้านบวกด้วย เช่น น้ำท่วมพัดพาดินตะกอนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาช่วยเพิ่มปุ๋ยให้พื้นที่เพาะปลูก ช่วยกำจัดวัชพืชและหนูนา ชาวบ้านสามารถจับปลาเป็นอาหารและขายสร้างรายได้
มาตรการเตรียมรับมือภัยพิบัติ
- มาตรการป้องกันและลดผลกระทบ
- มาตรการที่ใช้โครงสร้าง
- พัฒนาแหล่งน้ำระบบชลประทานเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง
- ปลูกป่าชายเลนเพื่อป้องกันน้ำเซาะตลิ่ง ใช้เป็นแนวกันลม และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศ
- ปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันดินโคลนถล่ม
- ปลูกพืชเกษตรเพิ่มผืนป่าเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศ
- มาตรการที่ไม่ใช้โครงสร้าง
- วางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อให้เพียงพอแก่การเพาะปลูกและไม่ให้ประสบปัญหาภัยแล้ง
- จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อลดความรุนแรงของภัยแล้ง
- ส่งเสริมการจัดการน้ำในชุมชนให้มีเพียงพอต่อความต้องการในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ และจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อป้องกันภัยแล้ง
- กำหนดเขตพื้นที่ (zoning) สำหรับกิจกรรมทางการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และปริมาณน้ำเพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยหรือภัยแล้ง
- มาตรการที่ใช้โครงสร้าง
- มาตรการเตรียมความพร้อม
- การปรับตัว
- พยากรณ์สภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำและใช้นโยบายด้านการเกษตรที่สมดุลกับดินฟ้าอากาศ เช่น เลื่อนฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว จำกัดการปลูกข้าวเพียงปีละ 1-2 ครั้งในพื้นที่ประสบภัยแล้ง
- พัฒนาพันธุ์พืชให้สามารถต้านทานสภาพแล้งและน้ำท่วมได้
- ปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ เช่น ทำการเกษตรลอยน้ำ ในพื้นที่ที่มักประสบภัยน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน เปลี่ยนชนิดพืช หรือวางแผนปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ
- ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนสารเคมีไปกับน้ำเมื่อเกิดอุทกภัย
- ส่งเสริมอาชีพเสริม หรือวิสาหกิจชุมชนให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ และสร้างรายได้แก่ชุมชน
- ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสาน ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด ไม่ใช้สารเคมี ช่วยให้มีผลผลิตตลอดปี ลดต้นทุน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และช่วยกระจายความเสี่ยงหากเกิดภัยจะได้ไม่เสียหายทั้งหมด
- แจ้งเตือนเรื่องปริมาณการปล่อยน้ำจากทางการ เพื่อเกษตรกรจะได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันเวลา
- สำรองเสบียงสัตว์และเวชภัณฑ์
- วางแผนการอพยพสัตว์และจัดเก็บพันธุ์พืช
- ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ ฝึกอบรมเกษตรกรให้รู้จักเตรียมความพร้อม เช่น การเตรียมความพร้อมยานพาหนะ เครื่องจักรกล เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ อุปกรณ์สูบน้ำ เตรียมการเก็บกักน้ำ เตรียมอาหารสัตว์ และสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ก่อนฤดูแล้งและฤดูมรสุม
- จัดทำแผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร เช่น
- แผนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันโรคระบาดพืชและสัตว์
- แผนการจัดหน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำและความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัย
- แผนอพยพสัตว์ไปไว้ที่ปลอดภัย รักษาสัตว์ป่วยและบาดเจ็บ
- แผนการสำรวจและประเมินความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบภัยและวิธีการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
- แผนซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างและระบบชลประทานเพื่อการเกษตร
- การปรับตัว
เครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง
เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ/เครือข่ายเกษตรกร/ชุมชน/องค์การบริหารส่วนตำบล/กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
องค์กรการเกษตรจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ตารางที่ 1 แสดงตัวอย่างกิจกรรมลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสำหรับภาคส่วนการเกษตร
ตารางที่ 1 ตัวอย่างกิจกรรมทางการเกษตรเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
มาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ | |
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน | การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากระดับความสูงของน้ำท่วมและภัยแล้ง
การฟื้นฟูป่าชายเลนซึ่งช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ช่วยกำบังลม และเป็นอนุบาลสัตว์น้ำ การปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันดินถล่ม การปลูกพืชกสิกรรมเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า |
กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน | การพัฒนาแผนจัดการแหล่งน้ำเพื่อให้แน่ใจว่ามีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตรในช่วงประสบภัยแล้ง
การพัฒนาการวางแผนทำฝนเทียมเพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ว การส่งเสริมการจัดการแหล่งน้ำในชุมชนเพื่อตอบสนองความต้องการในการเพาะปลูกและให้ความช่วยเหลือในการจัดหาทรัพยากรน้ำ การแบ่งเขตการเกษตรกรรมให้เหมาะสมกับภูมิศาสตร์ท้องถิ่นและปริมาณน้ำ |
มาตรการเตรียมความพร้อม | |
การปรับตัว | การใช้วิธีการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและแหล่งน้ำที่มีอยู่ สำหรับกิจกรรมทางการเกษตร เช่น การเปลี่ยนฤดูการเพาะปลูกไปเป็นเพียงปีละ 1 หรือ 2 ครั้งในพื้นที่ประสบภัยแล้ง
การประยุกต์ใช้วิธีทางการเกษตรที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ท้องถิ่น เช่น ฟาร์มลอยน้ำในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน ส่งเสริมอาชีพทางเลือกในชุมชนเกษตรกรหรือจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม ปรับการเกษตรแบบดั้งเดิมไปเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน |
การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ | การแจ้งชุมชนเกษตรกรเกี่ยวกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนล่วงหน้า
การเก็บรักษาเสบียงอาหารสัตว์และยา การเตรียมพร้อมอพยพสัตว์และแผนเก็บเกี่ยว การฝึกอบรมให้เกษตรกรเตรียมพร้อมยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ น้ำและอาหารสัตว์ ในช่วงประสบภัยแล้ง การพัฒนาแผนเพื่อจัดการกับโรคที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อพยพและรักษาสัตว์ที่ป่วย ประเมินความเสี่ยงให้กับเกษตรกร ฯลฯ |
ตัวอย่างกิจกรรมด้านการเกษตรสำหรับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในประเทศไทย
ตัวอย่างที่ 1: การทำคลังเสบียงสัตว์
กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งคลังเสบียงสัตว์ตำบล ใน 29 พื้นที่เพื่อผลิตหญ้าแห้ง 5000 กิโลกรัมต่อปี
ตัวอย่างที่ 2: การปลูกข้าวขึ้นน้ำ
เกษตรกรคนหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรีได้ริเริ่มการปลูกข้าวขึ้นน้ำในแม่น้ำ เนื่องจากพื้นที่นาถูกน้ำท่วมบ่อยครั้ง การปลูกข้าวด้วยวิธีนี้ทำให้เกษตรกรผู้นี้ประหยัดค่าใช่จ่ายในการเตรียมดิน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงและค่าการจัดการน้ำ ดังนั้นข้าวที่ได้จากการปลูกข้าวขึ้นน้ำจึงเป็นข้าวที่ปลอดสารเคมี

แหล่งภาพ: เกษตรพอเพียงคลับ.คอม cited by DDMP (2014)
นอกจากนี้ภาคส่วนอื่นๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุขและที่อยู่อาศัย ยังสามารถดำเนินมาตรการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้เช่นกัน ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ได้จากแนวปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction Guideline)
แหล่งข้อมูล:
- แนวปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction Guideline)
- การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน