Language : English
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยได้รวมแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ในส่วน (ร่าง) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ.2556-2593) ซึ่งในแผนดังกล่าวรวมถึงการปลูกสร้างสวนป่า การฟื้นฟูป่า และการจัดการพื้นที่ป่า และได้วางเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชยังได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดการนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries, REDD) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ จากการเสนอเข้าสู่เวทีเจรจาปัญหาโลกร้อนในปีพ.ศ. 2548 โดยประเทศปาปัวนิวกินีและคอสตาริกาโดยมีแนวคิดว่าการดูแลรักษาป่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของโลก ดังนั้นผู้ที่ดูแลรักษาป่าควรจะได้รับค่าตอบแทนเพื่อเป็นกลไกที่สร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการรักษาป่า โครงการ REDD จึงเป็นโครงการที่ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนารักษาป่า ซึ่งการเข้าร่วมโครงการของประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นการเข้าร่วมตามความสมัครใจ โดยขอบเขตของการรักษาป่า คือ เป็นกิจกรรมลดการทำลายป่า ลดความเสื่อมโทรมของป่ารวมถึงกิจกรรมการปลูกป่าหรือฟื้นฟูป่าเพิ่มเข้าไป จนปัจจุบันนี้เรียกกันว่าเป็น REDD-Plus (REDD+)
กิจกรรม REDD-Plus ไม่สนับสนุนการปลูกป่าแบบเชิงเดี่ยวเพื่อมุ่งเน้นประโยชน์ผลตอบแทนจากการกักเก็บคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นเป้าหมายด้านเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว รวมทั้งมีข้อเสนอให้ออกแบบกติกาของกลไก REDD-Plus ที่สอดคล้องกับประโยชน์และคุณค่าของป่าในหลากหลายมิติทั้งด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และวัฒนธรรม ยึดหลักการเคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่น ให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการดูแลรักษาและฟื้นฟูป่า

แหล่งข้อมูล:
- Department of National Parks, Wildlife and Plant Conservation. 2015. Forest Environment Division. http://www2.dnp.go.th/environment/?page_id=99
- http://adb.org/sites/default/files/climate-change-highlights-th_0.pdf