Language : English
ในปีพ.ศ. 2555 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอแผนยุทธศาสตร์ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ในปีพ.ศ. 2556-2559 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรสีเขียวและพืชพลังงานเพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล และการอนุรักษ์การส่งเสริมการเกษตร
หลักการดำเนินงานในการส่งเสริมบทบาทของภาคเกษตรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานแก่สังคมโดยรวม หัวใจของการดำเนินงานลดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรจึงอยู่ที่การลดก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) โดยการปรับปรุงการบริหารจัดการภาคเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ในบางกรณีจำเป็นต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทางเลือกสำหรับการส่งเสริมให้ภาคเกษตรลดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย คือ
- ทดลองและส่งเสริมการปลูกข้าวแบบใหม่ โดยเฉพาะสายพันธุ์ข้าวทนแล้ง หรือใช้วิธีการปลูกข้าวโดยใช้น้ำน้อยตามแบบ Systems of rice intensification
- ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เช่น การใช้สารลดการปล่อยออกก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide inhibitor) ในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
- หลีกเลี่ยงและลดการหมักวัชพืชในลักษณะที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน โดยการให้ความรู้และแนะนำทางเลือกอื่นๆ แก่เกษตรกร
- ปรับรูปแบบการเกษตรจากการผลิตที่มุ่งปริมาณ (mass crop production) สู่การผลิตที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (high-valued batch) แบบเกษตรประณีต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติให้กับเกษตรกร
- จัดทำโครงการนำร่องการดำเนินงานลดผลกระทบที่เหมาะสมระดับชาติ (Nationally Appropriate Mitigation Action, NAMA) ในภาคเกษตร โดยใช้ “โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน” หรือนโยบายปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นโครงการที่มีการวิเคราะห์เคมีของดินเพื่อจัดสูตรปุ๋ยวิทยาศาสตร์ให้เหมาะสมกับสภาพดินแทนการใช้ปุ๋ยสูตรกลาง เพื่อให้ตอบโจทย์ของการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เพราะเป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยลดการปล่อยไนตรัสออกไซด์ (N2O) จากการใช้ปุ๋ยเคมีในภาคเกษตรได้อย่างเห็นผล ซี่งก๊าซดังกล่าวก็เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจกที่สำคัญ
- มาตรการส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่องภาคสมัครใจก่อนในช่วงระยะแรกโดยเน้นเกษตรกรขนาดกลางและรายย่อย รวมทั้งให้มีการปรับปรุงระเบียบการส่งเสริมการลงทุนที่มีการลดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจก อาจเริ่มจากนโยบาย ส่งเสริมการติด “ฉลากลดโลกร้อน” ให้แก่สินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าวหอมมะลิ ไก่ และผักที่ผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ทั้งนี้ยังถือเป็นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันเชิงรุกให้กับเกษตรกรอีกด้วย
- ส่งเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีอื่นๆ ในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมและมีบทบาทที่สูงขึ้น เพื่อการดำเนินงานด้านการป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงป้องกันพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญ เพื่อคงไว้ซึ่งพื้นที่การทำเกษตรกรรมเพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหารสำหรับประเทศ เช่น การออกระเบียบควบคุมการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม หรืออาคารขนาดใหญ่ภายในพื้นที่นาข้าวที่มีดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงโดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง เป็นต้น
- การวางระบบการลงทะเบียนแบบสมัครใจ เพื่อติดตามผลการดำเนินการลดการปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจทุกขนาด และพิจารณาพัฒนาระบบให้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานนั้นๆ เช่น การขายคาร์บอนเครดิตที่ลดได้ให้แก่ภาคเอกชนที่ต้องการทำกิจกรรมนำร่อง ในเรื่องการชดเชย (Offset) การปล่อยออกก๊าซเรือนกระจกของตนเอง เป็นต้น
นอกจากแนวทางดังกล่าวที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้เพื่อรับมือและปรับตัว จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว แนวทางการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศเกษตรในระดับชาตินับว่ามีความสำคัญอย่างมาก จึงควรกำหนดกรอบเวลาของการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีแนวทางดำเนินงานในแต่ละระยะ ดังนี้
ระยะเร่งด่วน (1-2 ปี)
- การให้ความรู้กับเกษตรกร เจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชนในการรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรกร โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น รายโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ การจัดทำคู่มือให้ความรู้ การจัดประชุม การจัดฝึกอบรม เป็นต้น
- การสนับสนุนงบประมาณสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต
- การเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชที่ดีเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรที่ประสบภัยทางการเกษตร
- การใช้ระบบประกันราคาพืชผลทางการเกษตรที่เสียหายจากภัยพิบัติตามธรรมชาติ
ระยะกลาง (3-5 ปี)
- นำข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินเกี่ยวกับการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจจำนวน 13 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สับปะรดโรงงาน ลำไย เงาะ มังคุด ทุเรียน มะพร้าว และกาแฟ มาประยุกต์ใช้เพื่อกำหนดแนวทางสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกพืชอยู่ในเขตเหมาะสมให้สามารถรับมือและปรับตัวจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้
- การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการทำการเกษตรแบบยั่งยืน เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ และวนเกษตร อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเฉพาะการสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์และตลาดรับซื้อผลผลิต
- สนับสนุนระบบไฟฟ้าเพื่อการเกษตรในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำแต่ขาดไฟฟ้าเพื่อนำน้ำมาใช้
ระยะยาว (6-10 ปี)
- การศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกทนแล้ง หรือน้ำท่วมขังได้ดี สามารถให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช
- การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพกับพืชเศรษฐกิจ
- การขยายพื้นที่ชลประทานขนาดกลางและขนาดใหญ่มากขึ้น
- การพัฒนาเครือข่ายระบบเตือนภัยภูมิอากาศการเกษตรเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการตัดสินใจปลูกพืชของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่

แหล่งข้อมูล: