อุตสาหกรรม ธุรกิจ การค้าและการลงทุนกับการตั้งรับภัยพิบัติในประเทศไทย
ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ การค้า ต้องมีการวางระบบต่าง ๆ อย่างรัดกุมเพื่อความปลอดภัยในกระบวนการผลิตและการขนส่ง ตลอดจนต้องมีการตรวจสอบที่เข้มงวด ให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดทางกฎหมาย ทำให้จำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุน ผลกำไร และความคุ้มค่าในการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ การค้าและการลงทุน ก็ยังมีโอกาสได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อาทิ สถานประกอบการ อาคาร โรงงาน เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรได้รับความเสียหาย ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ความเสียหายด้านโครงสร้างอาจส่งผลต่อเนื่องรุนแรง เช่น เกิดการรั่วไหลของของเสีย น้ำเสีย สารเคมี สารกัมมันตรังสี วัตถุอันตรายต่าง ๆ ระบบไฟฟ้าลัดวงจรทำให้เกิดอัคคีภัย สินค้าและวัตถุดิบได้รับความเสียหาย แหล่งวัตถุดิบได้รับผลกระทบ ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต หรือหากบริษัทที่ประสบภัยเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบก็เป็นเหตุทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในพื้นที่อื่น และกระทบไปถึงคู่ค้าและลูกค้า ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการวิเคราะห์และวางแผนอย่างรอบคอบก่อนการดำเนินงานทุกขั้นตอนเพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนมีความคุ้มค่า เพื่อวางมาตรการ จัดการ และลดความเสี่ยงเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม มาตรการเตรียมรับมือภัยพิบัติ มาตรการป้องกันและลดผลกระทบ มาตรการที่ใช้โครงสร้าง ก่อสร้างโรงงานและสถานประกอบการให้มีโครงสร้างแข็งแรงถูกต้องตามมาตรฐาน ปรับปรุงโครงสร้างอาคารให้สามารถต้านทานน้ำท่วมได้หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม เช่น ทำชั้นล่างของอาคารให้มีพื้นที่น้ำไหลผ่าน สร้างแนวป้องกันน้ำท่วมสำหรับกิจการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม อย่างไรก็ดี การสร้างกำแพงกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรม อาจส่งผลให้น้ำท่วมในพื้นที่อื่นมากขึ้น จึงควรทำการสำรวจพื้นที่และประเมินความเสี่ยงร่วมกับชุมชนและเกษตรกรโดยรอบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน เช่น การสร้างแก้มลิงเพื่อเก็บน้ำในพื้นที่การเกษตร ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูแล้งด้วย มาตรการที่ไม่ใช้โครงสร้าง ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดพลังงานและลดของเสีย มลภาวะ และไม่เกิดการรั่วไหลปนเปื้อนเมื่อเกิดภัยพิบัติ…